PR

NIA สร้างทักษะนวัตกรรมให้ครูไทยในงาน “EDUCA 2019” จัดเวิร์คชอป “STEAM4INNOVATOR” 4 ขั้นตอนสร้างนวัตกร ต่อยอดพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

002. ทีมเวิร์คชอปจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นอกจากระบบการเรียนการสอนที่ประกอบด้วยหลักวิชาและองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญแล้ว การสร้างแนวคิด “สร้างสรรค์” และการเรียนรู้ฝึกฝนกระบวนการสร้าง “นวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ครูและบุคลากรทาง    การศึกษายุคนี้ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมและนำไปส่งต่อให้กับนักเรียนนักศึกษาของเราได้ อีกทั้งหากเรามีความสามารถในการนำ “นวัตกรรม” มาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและความสามารถในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็จะช่วยยกระดับการศึกษาและเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับเยาวชนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงาน “EDUCA 2019”  หรือ มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 12  ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ภายใต้แนวคิด “พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้” (The Power of Learning Community) พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาและเวิร์คชอปฝึกปฏิบัติการสร้างสรรค์นวัตกรรรมตามกระบวนการ “STEAM4INNOVATOR” ให้กับกลุ่มครูอาจารย์ที่มาร่วมงานตลอด 3 วัน ที่ผ่านมา

 

นางสาวปัทมาวดี พัวพรหมยอด ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA (Miss Pattamawadee Phuaphromyod, Innovation Counselling Manager, Innopreneurship Development Department of National Innovation Agency) เผยว่า “EDUCA เป็นงานที่รวมครูอาจารย์ที่มีคุณภาพไว้มากมาย และมีการนำเสนอสาระคอนเทนต์และกระบวนการสอน    ที่อัพเดททันสมัยให้กับกลุ่มครูอาจารย์ที่สนใจในการพัฒนาตนเองและพัฒนากระบวนการสอนในสถานศึกษาของตนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่ NIA นำมาเสริมให้ในบทบาทของหน่วยงานสนับสนุนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมในประเทศ แน่นอนก็ต้องคือ กระบวนการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาความคิดเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ชื่อว่า STEAM4INNOVATOR ซึ่งครูอาจารย์สามารถเรียนรู้และนำกลับไปฝึกฝนจนชำนาญเพื่อนำไปสอนลูกศิษย์ให้มีกระบวนการคิดที่ต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ ซึ่ง STEAM4INNOVATOR จะเป็นกระบวนการ 4 ขั้นตอน ที่นอกจาก       มุ่งใช้สร้างนวัตกรรมแล้ว เรายังสามารถนำไปปรับใช้ในการวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาทุกๆ โจทย์ที่เราจะต้องเจอในชีวิตประจำวันได้ด้วย มองปัญหาให้เป็นโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ คิดโซลูชั่น และเราอาจสร้างนวัตกรรม        ที่ยิ่งใหญ่ได้จากโจทย์หรือช่องว่างเล็กๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น”

 

STEAM4INNOVATOR คือ แนวทางการพัฒนาศักยภาพ ที่ใช้พื้นฐานความรู้ด้าน STEAM ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering), ศิลปะ (Art) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ Insight รู้ลึกรู้จริง, Wow! Idea คิดสร้างสรรค์ไอเดีย, Biz model แผนพัฒนาธุรกิจ และ Production & Diffusion การผลิตและการกระจาย โดย Innovator คือ นวัตกร หรือ ผู้สร้างนวัตกรรม จะต้องมี 5 คุณลักษณะเด่น คือ มีแรงบันดาลใจ,  มีจินตนาการ, มีความคิดสร้างสรรค์, สามารถบูรณาการได้ และลงมือทำจริง

004.นางสาวปัทมาวดี พัวพรหมยอด ให้ความรู้เกี่ยวกับ Steam4Innovator

อย่างไรก็ตามทั้ง 4 ขั้นตอน ประกอบไปด้วยหลากหลายเครื่องมือที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามทางที่ถนัด อาทิ ขั้นตอนที่ 1 รู้ลึกรู้จริง – เราต้องรู้ลึก และต้องรู้จริง ว่าลูกค้าเป็นใคร และปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เพราะบางครั้ง     สิ่งที่เรารู้อาจจะเป็นมุมเราที่เห็นคนเดียว ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นการหา Insight ที่แท้จริงของลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเห็นปัญหาที่จะหยิบมาแก้ไขได้ชัดเจน ซึ่งเราสามารถหา insight ได้ 3 วิธีคือ Immersion ลองด้วยตนเอง, Observation การสังเกต และ Interview การสัมภาษณ์ ซึ่งวิธีสุดท้ายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลจากลูกค้าเป้าหมายถ้าเราสามารถตั้งคำถามได้ดี เนื่องจากเราจะรู้ Pain point หรือปัญหาจริง จากการสัมภาษณ์ ที่มาพร้อมการแสดงอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนอาจได้ Surprising Insight หรือประเด็นที่เราคาดไม่ถึง โดยเทคนิคในการถามที่ดีต้องไม่ใช่คำถามปลายปิด ต้องเปิดโอกาสให้คนถูกสัมภาษณ์ได้ใช้เวลาคิด ต้องเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด ที่สำคัญคือต้องพยายามเจาะลึกถึงปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาแก้ไขได้อย่างตรงจุด

 

ขั้นตอนที่ 2 คิดสร้างสรรค์ไอเดีย – เป็นการคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยตั้งต้นจากการใช้โครงสร้างคำถาม How might we? เราสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อ…..? เมื่อได้คำตอบแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือแก้ปัญหา ทั้งนี้การ Brain storm ระดมความคิดจากทีมงานในการแก้ปัญหามี 2 แบบ คือ Critical thinking (Yes, but…)         การคิดเชิงวิพากษ์ คิดแบบมีวิจารณญาน และ Creative thinking การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Yes, and…) ซึ่งแบบที่ 2 จะถูกใช้ให้มากเพื่อเป็นการสนับสนุนและต่อยอดความคิดเห็นของกันและกันขึ้นไป

 

ขั้นตอนที่ 3 แผนพัฒนาธุรกิจ – ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ การหาเครือข่ายความร่วมมือ การทำผลงานต้นแบบ และการวางแผนธุรกิจอย่างครอบคลุมและรอบคอบ (Business model) ที่ต้องระบุได้ว่า กลุ่มลูกค้าคือใคร, คุณค่าที่มีต่อลูกค้า, ช่องทางการส่งคุณค่านี้ไปยังลูกค้า, การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า, วิธีการหาเงิน, ทรัพยากรที่ใช้, ขั้นตอนต่างๆ ในการสร้างคุณค่า, การหาความร่วมมือในการทำธุรกิจครั้งนี้ และต้นทุนมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ ผลงานต้นแบบ (Prototype) ที่เราต้องทำขึ้นก่อนในขั้นตอนนี้ ก็เพื่อทดสอบไอเดียและสมมติฐานที่เรามีกับลูกค้า ซึ่งผลงานต้นแบบนี้ ต้องจับต้องได้และสร้างประสบการณ์การใช้งานเสมือนได้ เพื่อขอรับข้อคิดเห็นในการปรับปรุงงานให้ดึงดูดความสนใจลูกค้าได้มาก ดังนั้น หัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์ต้นแบบคือ “การดึงจุดขาย”

 

ขั้นตอนที่ 4 การผลิตและการกระจายสินค้า – เป็นการสร้างมูลค่าผลงานนวัตกรรมออกสู่ตลาดจริง โดยนำผลงานที่พัฒนาจากขั้นตอนที่ 3 มาผลิตจำหน่าย รวมถึงการนำเสนอเพื่อขายไอเดียให้กับนักลงทุน ทั้งนี้ทริคในการหยิบประเด็นการนำเสนอ สามารถใช้ “Star model” คือพูดถึง Situation สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ Pain point หรือปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย, Task ทางเลือกที่จะสร้างหรือพัฒนาคือสิ่งใดบ้างเพื่อแก้ปัญหา Pain point ข้างต้น, Action สิ่งที่เราลงมือทำหรือสร้างขึ้นคืออะไร ความพิเศษของนวัตกรรมของเราคืออะไร, และ Result ผลลัพธ์ของการใช้งาน หรือประโยชน์ของนวัตกรรมที่คาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะได้รับ

 

“ทั้งนี้โปรแกรม STEAM4INNOVATOR เป็นหลักสูตรเสริมที่จะทำให้ครูมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอด           ให้นักเรียนได้มีแนวคิดที่จะสร้างนวัตกรรมได้ดียิ่งขึ้น โดยหลักสูตรก็เป็นเรื่องของสาระเนื้อหากรอบการเรียน สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่ต้องฝึกฝน คือ ส่วนของกระบวนการและวิธีคิดที่ได้รับการถ่ายทอด ฉะนั้นต่อไป “ครู” จะไม่ใช่แค่  ผู้ที่มาสอนหนังสือ แต่จะต้องเป็น “กระบวนกร” คือ เป็นผู้ที่ฝึกให้เด็กคิดและลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะเด็กให้เป็นคนช่างหาข้อมูล เป็นคนรอบรู้ ไม่ใช่เพียงช่างฟังและช่างจำ เพราะเมื่อเด็กถูกฝึกให้คิดและทำ กับโจทย์อื่นๆ ซ้ำๆ ก็จะช่ำชอง  ในกระบวนการ และจะสามารถพัฒนาใช้ในการสร้างโอกาสจากปัญหาต่างๆ ที่พบในอนาคตต่อไปได้” นางสาวปัทมาวดี พัวพรหมยอด กล่าวปิดท้าย





Click to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

To Top