Ninefar

กรมสุขภาพจิต ชวนดาวน์โหลด “Smile Hub” แอพลิเคชั่นดีต่อใจ เหมือนมีหมอสุขภาพจิตอยู่ข้างกาย

กรมสุขภาพจิต เอาใจคนรักสุขภาพ ชวน ดาวน์โหลด Application ที่มีชื่อว่า “Smile Hub” แอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพจิตดีของคนทุกเพศทุกวัย ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบ Android และ iOS

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป การแข่งขัน ความเร่งรีบ และความกดดันต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ ดังปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ความสามารถในการประเมินสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้างในเบื้องต้นได้ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรับมือและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ในอนาคต และด้วยวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมที่สมาร์ทโฟนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2559 พบว่า คนไทยใช้ Smart Phone เพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี (2555-2559) จาก 5 ล้านคน เป็น 31.7 ล้านคน และใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง ร้อยละ 90.4 ตลอดจน ใช้งานสมาร์ทโฟน โดยเฉลี่ย 230 นาที หรือ เกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน (Nielsen Informate Mobile Insight Q3’ 2016) ประกอบกับกลุ่มผู้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อเสนอแนะถึงการมีช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยเข้าถึงง่าย สามารถประเมินสุขภาพจิตตนเองในเบื้องต้นได้ กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดทำ Mobile Application ขึ้น ในชื่อ “smile hub” ด้วยตั้งใจให้เป็นแหล่งรวมสาระความรู้สุขภาพจิต ความสุข รอยยิ้ม และกำลังใจให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า Mobile Application “Smile Hub” เป็นการนำแบบประเมินสุขภาพจิตในรูปแบบเอกสารมาปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในสังคมที่มีความทันสมัยและสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยได้มีการปรับปรุงรูปแบบและอัพเดทแบบประเมินมาเป็นระยะ เพื่อความเป็นปัจจุบัน พร้อมให้ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ที่เหมือนมีหมอสุขภาพจิตอยู่ข้างกาย ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นตัวนี้สำเร็จ เมื่อเข้ามา จะพบกับแบบประเมินสุขภาพจิตของกลุ่มวัยต่างๆ ได้แก่ เด็กแรกเกิด -11 ปี วัยรุ่น 12-17 ปี วัยทำงาน 18-60 ปี และวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในวัยเด็ก จะมีโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ หน่วยงานเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ของกรมสุขภาพจิต ตลอดจน สามารถประเมินความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีคิว ใน 2 ช่วงอายุ คือ อายุ 3-5 ปี และ 6-11 ปี โดยผู้ปกครองเป็นผู้ทำการประเมิน สำหรับวัยรุ่นจะประเมินความฉลาดทางอารมณ์และภาวะซึมเศร้า วัยทำงานจะประเมินความเครียดและภาวะซึมเศร้า ขณะที่วัยสูงอายุจะประเมินสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้า ซึ่งระบบจะประเมินผลให้โดยอัตโนมัติ โดยใช้เวลาไม่นาน พร้อมรับคำแนะนำในภาพรวมและตามผลการประเมินที่ได้ ตลอดจนได้รับแนวทางการพัฒนาสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในทันที รวมทั้ง ยังสามารถแชร์ไปยัง Timeline ได้หากต้องการ